เพิ่มน้ำหนัก และบอกลารูปร่างผอมเกินไปเพื่อให้มีรูปร่างที่ดูดี

เมื่อพูดถึงปัญหาเรื่องน้ำหนักตัว แน่นอนว่ากระแสสังคมให้ความสนใจไปยังกลุ่มคนที่ต้องการลดน้ำหนักมากกว่า ทั้งที่จริงแล้วการมีน้ำหนักมากหรือต่ำกว่าเกณฑ์ก็ส่งผลกระทบต่อสุขภาพไม่ต่างกัน

ความจริงแล้วมีคนไทยอีกจำนวนมากที่มีปัญหาน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ กล่าวคือ เป็นผู้ที่มีลักษณะรูปร่างซูบผอม และต้องการหาวิธีเพิ่มน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อให้มีรูปร่างที่ดูดี สวยงาม และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ที่มาจากความผอมกว่าปกติ

เพิ่มน้ำหนัก และบอกลารูปร่างผอมเกินไปเพื่อให้มีรูปร่างที่ดูดี

ทำไมการเพิ่มน้ำหนักจึงสำคัญ?

น้ำหนักตัวที่มากไปหรือน้อยไปก็ส่งผลเสียให้กับร่างกายได้ไม่แพ้กัน โดยการควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานถือเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งต่อการมีสุขภาพที่ดี

ผู้ที่มีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์จัดอยู่ในกลุ่มผู้ที่มีภาวะทุพโภชนาการ (Malnutrition) ซึ่งภาวะนี้เกิดจากการได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย หรือเกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถใช้ประโยชน์จากสารอาหารเหล่านั้นได้ จึงเป็นผลให้ร่างกายเกิดความผิดปกติ ทำให้น้ำหนักตัวลดลงอย่างมาก สูญเสียไขมัน มวลกล้ามเนื้อ มีอาการอ่อนเพลีย สมองเบลอ เบื่ออาหาร ขับถ่ายยาก หัวใจเต้นผิดปกติ หรือเกิดโรคแทรกซ้อนเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารและระบบทางเดินหายใจ

ในบางรายที่มีน้ำหนักตัวลดลงอย่างเฉียบพลัน อาจส่งผลกระทบต่อร่างกายอย่างรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตลงได้ หากพบว่าน้ำหนักตัวลดลง ก็ควรหาวิธีเพิ่มน้ำหนักที่ไม่ทำลายสุขภาพ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เหมาะสมเพื่อไม่ให้กระทบต่อสุขภาพในระยะยาว

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้บางคนกินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน

หากพบว่าน้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือน้ำหนักลดลงเกิน 5% ของน้ำหนักตัวภายใน 1 เดือน ทั้งที่กินปกติ หรือมากกว่าปกติ นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนภัยเงียบ เนื่องจากร่างกายกำลังเผชิญกับความผิดปกติ ดังนี้

ความเครียดและวิตกกังวล เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้น้ำหนักลดลง เมื่อเกิดความเครียดฮอร์โมนคอร์ติซอลจะเพิ่มสูงขึ้น กระตุ้นให้ร่างกายทำงานหนักและใช้พลังงานมากเกินความจำเป็น ส่งผลให้ร่างกายซูบผอม หรือโทรมลง

การรับประทานอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ ซึ่งอาจเกิดจากการขาดความรู้เกี่ยวกับหลักโภชนาการ และได้รับข้อมูลที่เกิดเป็นความเชื่อแบบผิดๆ เกี่ยวกับคุณค่าทางสารอาหาร ทำให้เลือกทานแต่อาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และส่งผลให้น้ำหนักลดลงทั้งที่ทานอาหารในปริมาณปกติ

เกิดจากยาบางตัวหรือสารเสพติด การรับประทานยารักษาโรคบางชนิด เช่น ยาจิตเวช หรือใช้สารเสพติดบางชนิด เช่น ยาบ้า โคเคน รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลให้น้ำหนักลดลงได้ แม้ว่าจะทานอาหารไปมากเท่าไหร่ก็ตาม

เกิดจากโรคประจำตัว เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะน้ำหนักลดและหาทางแก้ได้ยาก เช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคซึมเศร้า ไบโพลาร์ โรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ และโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร การติดเชื้อ HIV

ปัจจัยทางพันธุกรรม เกิดจากการถ่ายทอดยีนทางพันธุกรรม ที่ส่งผลให้มีรูปร่างผอมหรือน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์

มีอัตราการเผาผลาญพลังงานสูง เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ทานอาหารเท่าไหร่น้ำหนักก็ไม่เพิ่มขึ้น หรือหากทานน้อยร่วมด้วยน้ำหนักก็จะยิ่งลดลง

เอนไซม์ในระบบทางเดินอาหารผิดปกติ ทำให้อาหารที่ทานเข้าไปไม่ถูกย่อยหรือส่งผลต่อการดูดซึมสารอาหาร ทำให้ร่างกายได้รับพลังงานไม่เพียงพอ

ข้อควรระวังในการเพิ่มน้ำหนัก

ผู้ที่กำลังเพิ่มน้ำหนักควรประเมินความเปลี่ยนแปลงของร่างกายสม่ำเสมอ ว่าน้ำหนักเพิ่มหรือลดเท่าไหร่ หากลดเกิน 5% ของน้ำหนักตัวควรรีบพบแพทย์หรือนักโภชนาการเพื่อขอรับคำปรึกษา

การเพิ่มน้ำหนักแบบสุขภาพดีควรเพิ่มไม่เกิน 0.5-1 กิโลกรัมต่อสัปดาห์

การเพิ่มน้ำหนักโดยการทานอาหารที่เป็นไขมันหรือน้ำตาลสูง น้ำหนักอาจจะเพิ่มได้เร็วแต่สามารถทำให้เกิดโรคและความผิดปกติของร่างกายได้ เช่น โรคเบาหวาน ภาวะไขมันในเลือดสูง

หากมีอาการแม้จะพยายามเพิ่มน้ำหนัก ให้ไปพบแพทย์เพราะอาจเกิดจากปัญหาสุขภาพจิตหรือปัญหาด้านการกินอาหารได้ เช่น พฤติกรรมเปลี่ยนไป น้ำหนักลดลงเร็ว เหนื่อยง่าย ปฏิเสธการกินอาหาร

เนื้อหาจาก: https://www.doctorraksa.com/th-TH/blog/how-to-gain-weight-healthily.html

ติดตามอ่านต่อได้ที่  schiggysboard.com